วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ปราสาทเมืองสิงห์


ปราสาทเมืองสิงห์


อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เป็นการศึกษาโบราณสถานที่ทรงคุณค่า มีอายุกว่า 800 ปี ได้เห็นถึงอิทธิพลของขอมในอดีต และเรียนรู้ความเป็นมาจากสถาปัตยกรรมการสร้างปราสาทขอม

ปราสาทเมืองสิงห์ ตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ เขตตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค แต่ก่อนเคยเป็นเมืองสิงห์ มีผังเมืองเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส อยู่บนที่ราบริมฝั่งด้านขวาของแม่น้ำแควน้อย พื้นที่ประมาณ 641 ไร่ 1 งาน 65 ตารางวา กำแพงเมืองก่อด้วยศิลาแลง ขนาดกว้าง 880 เมตร มีประตูเข้าออกทั้ง 4 ด้าน บริเวณด้านนอกกำแพงเมืองสามด้าน (ด้านตะวันตก เหนือ และตะวันออก) มีคูน้ำคันดินกั้นเป็นกรอบล้อมรอบอีก 7 ชั้น ส่วนทางด้านทิศใต้ กำแพงเมืองคดโค้งไปตามแนวลำน้ำแควน้อย ที่เป็นปราการธรรมชาติ

ภายในอุทยานได้แบ่งพื้นที่เข้าชมโบราณสถานเป็นส่วนๆ มีทั้งการจัดแสดงภายในอาคาร และซากโบราณสถานทั้ง 4 แห่ง

พิพิธภัณฑ์จัดแสดงศิลปวัตถุ
เป็นอาคารสำหรับเก็บ และจัดแสดงวัตถุต่างๆ ที่ได้จากการขุดแต่งโบราณสถาน เพื่อให้ได้ศึกษา เรียนรู้ เช่นภาชนะดิน เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับที่ทำด้วยหินและแก้ว รวมทั้งโครงกระดูก ที่ขุดค้นได้ทางโบราณคดี ที่มีอายุกว่า 2000 ปี

เขตซากโบราณสถานที่เป็นสถานที่จริง
โบราณสถานหมายเลข 1 เป็นโบราณสถานที่มีความสมบูรณ์ที่สุดในอุทยาน ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางของตัวเมือง มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ก่อสร้างด้วยศิลาแลง ประดับด้วยลวดลายปูนปั้น มีร่องรอยของกำแพงแก้วล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน มีชานชาลาศิลาแลงรูปกากบาท ก่อนเดินขึ้นบันไดสู่ผ่านเข้าซุ้มประตูขนาดใหญ่ ที่เรียกวัน "โคปุระ" ซุ้มประตูมีอยู่ทั้ง 4 ทิศ เชื่อมต่อกันด้วยทางเชื่อมที่ก่อเป็นผนังสองด้าน มีหลังคาทำจากศิลาแลงคลุมโดยรอบ เรียกว่า "ระเบียงคด" สันหลังคาประดับด้วยบราลี

เมื่อผ่านซุ้มประตูเข้าไปส่วนในสุด จะเป็นบริเวณสำหรับประกอบพิธีกรรม มีปรางค์ประธานเป็นศูนย์กลาง ยังคงเห็นเป็นฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุม 20 ส่วนยอดพังทลายหายไปแล้ว ภายในประดิษฐานพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ในภาคที่เรียกว่า "เปล่งรัศมี" คือ มีพระกร 8 กร (พระกรทั้งหมดได้หักหมดแล้ว) ถัดไปทางบริเวณซุ้มประตูโคปุระด้านหลังของปรางค์ประธาน มีรูปเคารพพระนางปรัชญาปารมิตา นอกจากนี้บริเวณใกล้ๆ ปรางค์ประธานยังมีมีอาคารเล็กๆ ที่เรียกว่า "บรรณาลัย" หรือเป็นที่เก็บคัมภีร์ของพุทธศาสนาในสมัยนั้น

โบราณสถานหมายเลข 2 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมายเลข 1 ไม่ไกลกันนัก ก่อด้วยศิลาแลง ประดับด้วยลวดลายปูนปั้น มีรูปแบบคล้ายกับโบราณสถานหมายเลข 1 คือตัวปราสาทล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ตั้งอยู่บนฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซ้อนกัน 2 ชั้น ภายในมีปรางค์ประธาน 1 องค์ มีโคปุระ 4 ทิศ เชื่อมต่อด้วยระเบียงคด ส่วนที่หลงเหลือให้เห็นในส่วนที่ประกอบพิธีคือแท่นฐานปฏิมากรรมที่วางเรียงอยู่ในแนวของระเบียงคด

โบราณสถานหมายเลข 3 อยู่นอกกำแพงแก้ว ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมายเลข 1 มีร่องรอยให้เห็นว่ามีฐานขนาดเล็ก ก่อด้วยอิฐและศิลาแลง มุมทั้ง 4 ของโบราณสถานมีแผ่นหินปักไว้ คล้ายกับจะเป็นใบเสมา

โบราณสถานหมายเลข 4 อยู่ทางทิศตะวันตก ของหมายเลข 1 เป็นอาคารฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายเรือนแถว 4 ห้อง

ที่มาhttp://www.kanchanaburi.co/th/specific-place/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B9%8C/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น